จักรยานถูกแบ่งออกเป็นประเภทการใช้งานหลายประเภท จักรยานเพื่อการแข่งขัน จักรยานเพื่อการออกกำลังกาย จักรยานพับ จักรยานแม่บ้าน ฯลฯ สำหรับจักรยานแต่ละประเภทนั้น ก็สามารถแบ่งย่อยได้อีกตามความพิเศษ หรือ ฟังก์ชั่น การใช้งานที่เฉพาะทางมากขึ้น, สำหรับจักรยานทัวร์ริ่งก็เช่นเดียวกัน จักรยานทัวร์ริ่งสามารถจัดแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆคร่าวๆ ตามนี้ครับ
Light Touring
สำหรับคนที่ชอบการปั่นจักรยานท่องเที่ยว แต่ยังคงคลั่งไคล้ในการทำเวลา จักรยานแบบ Light Touring ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยม ด้วยองศาของเฟรมที่ใกล้เคียงกับจักรยานแบบเสือหมอบเพื่อการแข่งขัน

จักรยานรูปแบบนี้ จะมีน้ำหนักค่อนข้างเบา (เบากว่าจักรยานทัวร์ริ่งแบบ Long Distance) และทำความเร็วได้ดี, มักจะมาพร้อมกับยางหน้าแคบ ลู่ลม และการปรับเกียร์ที่มีอัตราการทดรอบสูงเพื่อทำความเร็ว
การเลือกใช้จักรยานแบบนี้ มักเลือกด้วยวัตถุประสงค์การท่องเที่ยว ที่เน้นเดินทางด้วยความเร็ว ในระยะทางไกลๆ และบรรทุกสัมภาระน้อย เช่น การปั่นจักรยานข้ามจังหวัดระยะทาง 100-300 กม. ค้างคืนสัก 1-2 คืน แล้วปั่นกลับ
เราสามารถเลือกนำจักรยานประเภท Endurance, Cyclo-cross หรือจักรยานประเภทอื่นๆ มาปรับแต่งให้เหมาะสมกับกรนำไปปั่นท่องเที่ยวแบบ light touring ได้ ควบคู่กับการใช้กระเป๋าแบบพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องใส่กับแร๊ค

บางคนจะเอาจักรยานเฟรมคาร์บอนมาปั่นทัวร์ริ่งได้ ก็ไม่ผิดอะไร แต่มันอาจจะไม่เหมาะสมกับงานสักเท่าไหร่หรอกนะ และถ้าคิดในมุมของความง่ายในการซ่อมเฟรม (ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง และเฟรมเสียหาย) เฟรมที่เป็นโลหะจะซ่อมได้ง่ายกว่าด้วยช่างเหล็กที่หาได้ง่ายตามท้องถนน
Long Distance Touring
จักรยานทัวร์ริ่งทางไกล มักเป็นจักรยานที่ถูกออกแบบให้สามารถบรรทุกของได้หนักเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มส่วนที่สามารถใส่แร๊ค ทั้งหน้า และ หลัง ซึ่งใช้สำหรับติดตั้งกระเป๋าหรือบรรทุกสัมภาระ ถ้าหากคุณนึกไม่ออก ให้ลองจินตนาการถึงการเดินทาง 1 สัปดาห์ ที่ต้องพกพาเสื้อผ้า เต๊นท์นอนที่นอนเป่าลุมและถุงนอน เครื่องครัวขนาดเล็กๆ อาหารจำนวนหนึ่ง เราจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับเก็บของพวกนั้นยึดติดไว้กับจักรยาน
จักรยานประเภทนี้ มักจะถูกออกแบบไว้ให้สามารถบรรทุกน้ำหนักสัมภาระได้อย่างน้อยๆ 25 กก. ขึ้นไป และถ้าหากรวมน้ำหนักผู้ปั่นแล้ว สามารถรับน้ำหนักได้อย่างน้อยๆก็ 100 กก.

เนื่องจากเหตุผลของการบรรทุกหนัก เฟรมจักรยานประเภทนี้ มักถูกออกแบบมาให้มีความแข็งแรง ซึ่งหมายถึงตัวเฟรมจะมีน้ำหนักค่อนข้างมากและทำความเร็วได้ไม่สูงนัก (เนื่องจากผู้ปั่นต้องรับภาระบรรทุกด้วย)
จักรยานประเภทนี้ จะปรับแต่งให้มีช่วงอัตราทดเกียร์กว้าง เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย, ล้อที่แข็งแรงเพื่อการรองรับน้ำหนักบรรทุก, สามารถใส่ยางที่หน้ากว้างได้ และมักจะมีจุดสำหรับยึดอุปกรณ์ หรือ ขวดน้ำมากกว่าปกติ (3 จุด ขึ้นไป)

Trekking
จักรยานทัวร์ริ่งกลุ่มนี้ ถือเป็นการ set-up จักรยานแบบที่สามารถลุยไปบนเส้นทางที่สมบุกสมบันมากยิ่งขึ้น สำหรับถนนดิน ถนนชนบท หรือ การเดินทางที่ไม่สามารถคาดเดาสภาพถนนได้, จักรยานประเภทนี้มักจะมีองศาที่ให้นั่งตัวตรง รู้สึกสบายมากขึ้น
(จักรยานประเภท Trekking เป็นประเภทที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างจักรยานแบบ long distance touring และ แบบ off-road touring ทั้งนี้ขึ้นกับการ set-up เพื่อจุดประสงค์การใช้งาน)
จักรยานที่ปรับแต่งเพื่อการเดินทางแบบ trekking นี้ มักใช้ชุดเกียร์ที่เน้นความหลากหลายของอัตราทด, ส่วนมากจะใช้ชุดขับสำหรับเสือภูเขา และล้อขนาด 26 นิ้ว ถือเป็นตัวเลือกยอดนิยมของจักรยานประเภทนี้ ซึ่งทำให้สามารถซ่อมแซมระหว่างการเดินทางได้สะดวก เพราะอะไหล่สำหรับจักรยานล้อ 26 นิ้ว สามารถหาซื้อได้ไม่ยากนัก (27.5 นิ้ว หรือ 29 นิ้ว หรือ ล้อโต หาซื้อได้ยากกว่า)

จักรยาน Trekking มักมีความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักได้มาก, แต่ข้อจำกัดของจักรยาน Trekking ที่ใช้โช๊ค ซึ่งการออกแบบโช๊คสำหรับจักรยานบางยี่ห้อนั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถใส่แร๊คเพื่อการบรรทุกสัมภาระได้ ในการเดินทางไกล บางครั้งหากเกิดปัญหาขึ้นที่ระบบโช๊ค การซ่อมแซมระหว่างการเดินทางถือเป็นเรื่องน่าปวดหัวจริงๆ
Off-Road Touring
เป็นประเภทจักรยานที่มีความชัดเจนในเรื่องขององศาของเฟรมที่เน้นให้ไปในทิศทางของจักรยานเสือภูเขา เพื่อเน้นการตะลุยถนนขรุขระ ขึ้นเขา เข้าป่า ลุยหาดทราย ทะเลทราย, แต่ยังคงความสามารถในการบรรทุกสัมภาระได้ โดยมักจะมีจุดสำหรับยึดแร๊คเอาไว้บนเฟรม

Recumbent
จักรยานแบบนอนปั่น เป็นจักรยานอีกประเภทหนึ่งที่มักถูกใช้สำหรับการทัวร์ริ่ง ข้อดีของจักรยานประเภทนี้ คือ ออกแบบให้ไม่รู้สึกปวดก้น ไม่ปวดหลัง, ท่านอนปั่น ทำให้ลู่ลม แต่ก็มีข้อเสียคือ ไม่มีพื้นที่สำหรับบรรทุกสัมภาระมากนัก ปั่นขึ้นภูเขาได้ยาก และหาอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงได้ยาก

Folding
ยี่ห้อจักรยานพับหลายๆยี่ห้อ ได้ออกแบบจักรยานรุ่นพิเศษเพื่อเหมาะสมกับงานทัวร์ริ่งออกมาจำหน่าย พื้นฐานที่สำคัญของจักรยานพับที่เหมาะสมกับกิจกรรมปั่นทัวร์ริ่ง คือ มีหน้ายางกว้าง สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ สามารถใส่แร๊คเพื่อการยึดติดกระเป๋าสัมภาระ
ข้อได้เปรียบของจักรยานพับ ที่สำคัญ คือ ขนาดเล็ก สามารถพับเก็บแล้วมีขนาดเล็ก สะดวกในการขนย้ายขึ้นรถยนต์ หรือ โหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบิน, ในทางตรงกันข้ามกัน จักรยานพับซึ่งมีขนาดล้อที่เล็ก ไม่สามารถปั่นทำความเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอาจไม่สามารถบรรทุกสัมภาระได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า พื้นฐานของจักรยานพับส่วนใหญ่ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการเดินทางในเมืองมากกว่าการเดินทางไกลนั่นเอง


.
เทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้ผู้ผลิตจักรยานหลายๆยี่ห้อ ผลิตจักรยานประเภททัวร์ริ่งให้สามารถใช้งานได้หลากหลายแนวมากขึ้น ไม่เฉพาะใช้งานด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมยี่ห้อต่างๆ ทำให้จักรยานทัวร์ริ่งไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบแบบเดิมๆ ไว้หากมีโอกาส จะมาเขียนบันทึกเรื่องต่อเนื่องจากนี้ครับ